วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องของ "การละเมิดลิขสิทธิ์" เป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุก ๆ คน เราอาจจะกระทำผิดได้ด้วย "ความไม่รู้" แต่กฎหมายไม่สนใจความไม่รู้ของเรานะครับ

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ ทำผลงานวิชาการ หรือแม้กระทั่งการเขียนบันทึกในรูปแบบ BLOG ในอินเทอร์เน็ต เรามีความเสี่ยงที่จะทำผิด "กฎหมายลิขสิทธิ์" ได้กันทุกคน ไม่ว่าจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ รู้อยู่แก่ใจ

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ ตั้งแต่มาตรา 32 ถึงมาตรา 43

หลักการสำคัญที่จะไม่ถึอว่ากรณีต่าง ๆ ที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก การใช้งานลิขสิทธิ์นั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์

ประการที่สอง การใช้งานลิขสิทธิ์นั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฏหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร


สำหรับข้อยกเว้นที่ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแต่ละกรณีที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเขียนผลงานวิชาการ หรือรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่

(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

(9) การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(10) การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร ดังต่อไปนี้

- การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
- การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา




1 ความคิดเห็น:

เยี่ยมครับ เป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ ได้เลยครับ

แสดงความคิดเห็น